2025-05-19 IDOPRESS
"เลขาฯสภาพัฒน์" แนะประชาชนและภาคธุรกิจ เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ ใช้จ่ายระมัดระวัง รอบคอบมากขึ้น
🔊 ฟังข่าว
⏸️ หยุดชั่วคราว
🔄 เริ่มใหม่
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจีดีพีขยายตัว 1.3-2.3% หรือค่ากลาง 1.8% จากเดิมคาด 2.3-3.3% หรือค่ากลาง 2.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ จะมีผลในช่วงครึ่งปีหลัง 2568
“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สศช. ระบุว่า “เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ แต่ช่วงต่อไปผันผวนมากขึ้น ทั้งการค้า อัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจชะลอตัว จึงขอให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ เตรียมตัวรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น และประชาชนให้เตรียมความพร้อมเรื่องการใช้จ่ายประจำวัน คงต้องรอบคอบมากขึ้น เพื่อทำให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้”
นอกจากนี้ เรื่องการเพิ่มช่องว่างทางการคลังนั้น ต้องดูในเรื่องการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น ดูวินัยการเงินการคลังเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาช่องว่างทางการค้าที่มีอยู่ ในช่วงต่อไปการใช้จ่ายเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ส่วนมาตรการการเงินที่อาจเข้ามาช่วยได้นั้นต้องเป็นทาง ผู้ว่าการ ธปท. กับ รมว.คลัง ที่จะต้องพูดคุย ว่า ทั้งมาตรการการคลัง และมาตรการการเงิน จะมาเสริมกันในช่วงเวลาไหนเท่านั้น
สำหรับแนวทางบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2568
1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่ให้ต่ำกว่า 70% ของกรอบงบลงทุนรวม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการคลัง
2.การดำเนินการเพื่อรองรับการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสำคัญ :
(1) การเร่งรัดการเจรจาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐ
(2) การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการขยายตลาดใหม่
(3) การส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยในตลาดโลก รวมถึงการทบทวนสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
(4) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
(5) การเตรียมมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ และแรงงานที่ได้รับผลกระทบ
3.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม:
(1) การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า
(2) การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้า
(3) การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด และมาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
4.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
5.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาด ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
6.การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ
05-19
05-19
05-19
05-19
05-19
05-19
05-19
05-19
05-19
05-19